สถาปัตยกรรมกรีกโบราณ | Ancient Greek Architecture

Posted in : สถาปัตยกรรม on by : Webmaster Comments: 0

สถาปัตยกรรมกรีกโบราณนั้นคือสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นโดยชาวกรีกโบราณหรือชาวเฮเลนนิคที่อยู่ในวัฒนธรรมซึ่งเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของกรีกและเพโลพอเนซุส รวมไปถึงเกาะแอเกียนและอาณานิคมน้อยใหญ่ในเอเชียไมเนอร์และอิตาลี นับตั้งแต่ช่วงเวลาเก้าร้อยปีก่อนคริสตกาลจนถึงคริศตศตวรรษที่หนึ่ง โดยสถาปัตยกรรมกรีกโบราณที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่นั้นตรวจสอบพบว่าถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณหกร้อยปีก่อนคริสตกาล
ประวัติความเป็นมา
สถาปัตยกรรมกรีกโบราณนั้นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ามีความโดดเด่นในเรืองอาคารที่ใช้เป็นอาราม ซึ่งพบเห็นได้โดยทั่วไปในดินแดนแถบนั้น แม้ว่าจะเหลือเป็นซากปรักพังโดยส่วนใหญ่แต่ก็ยังคงรูปและโครงสร้างไว้ได้อย่างแข็งขัน สิ่งปลูกสร้างอีกประเภทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถาปัตยกรรมกรีกโบราณที่ยังคงหลงเหลือมาจากโลกเฮเลนนิคมาสู่ยุคสมัยปัจจุบันนั้นคือโรงมหรสพกลางแจ้งที่ตรวจสอบพบว่าโรงที่เก่าแก่ที่สุดนั้นถูกสร้างไว้ตั้งแต่ราวสามร้อยห้าสิบปีก่อนคริสตกาลโดยประมาณ สถาปัตยกรรมอีกประเภทที่ยังถูกค้นพบหลักฐานก็คือช่องทางเดินสำหรับพิธีการหรือ Propylon จัตุรัสกลางเมืองหรือ Agora ที่ล้อมรอบด้วยทางเดินล้อมเสาเป็นชั้นหรือ Stoa นอกจากนั้นยังมีอาคารว่าการของเมืองหรือ Bouleuterion อนุสรณ์สาธารณะและหลุมศพหรือ mausoleum และสนามกีฬาหรือ stadium
ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแบบกรีกโบราณ
สถาปัตยกรรมกรีกโบราณนั้นมีความโดดเด่นต่างจากสถาปัตยกรรมแบบอื่นๆ ด้วยลักษณะที่เป็นแบบแผนทางการอย่างยิ่งยวด ทั้งในแง่ของโครงสร้างและการตกแต่งประดับประดา คุณสมบัติดังกล่าวนี้จะปรากฏชัดอย่างยิ่งเมื่อเราพิจารณาในกรณีของอารามต่างๆ ที่ในขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างนั้นจะถือว่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างแต่ละหลังนั้นถือเป็นงานประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่ถูกจัดวางท่ามกลางภูมิทัศน์เบื้องหลัง โดยสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายนั้นมักถูกยกให้สูงขึ้นจากพื้นด้วยการสร้างฐานรองสูง เพื่อให้ตัวอาคารเหล่านั้นสามารถสำแดงสัดส่วนอันสง่างามออกมาและเพื่อให้ผลตกกระทบของแสงที่มีต่อตัวอาคารนั้นสามารถถูกมองเห็นจากทุกมุมรอบด้าน นิโคเลาส์ เปฟสเนอร์ได้กล่าวไว้ว่า “รูปร่างที่ยืดหยุ่นของอารามกรีกนั้นถูกจัดเรียงไว้เบื้องหน้าเราที่เป็นผู้ชมพร้อมกับภาพปรากฏทางกายภาพที่มีความเข้มข้นและมีชีวิชีวายิ่งกว่าสิ่งปลูกสร้างชิ้นอื่นใดๆ”
ประเภทของสถาปัตยกรรมในอารยธรรมกรีกโบราณ
คำศัพท์ที่ใช้ในสถาปัตยกรรมกรีกโบราณโดยเพาะที่ใช้เรียกสไตล์การออกแบบนั้นแบ่งออกได้เป็นสามประเภท คือสถาปัตยกรรมแบบโดริก แบบไอโอนิค และแบบโครินเธียน การแบ่งประเภของสถาปัตยกรรมนี้มีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง สถาปัตยกรรมกรีกโบราณนั้นพัฒนาขึ้นบนกรีกภาคพื้นแผ่นดินใหญ่และยังคงเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลในประเทศอิตาลีนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือ Renaissance เป็นต้นมา การย้อนกลับไปหาหรือการฟื้นคืนศิลปะและแนวคิดแบบคลาสสิคได้ส่งผลให้ไม่เพียงแค่การสืบทอดรูปแบบของสถาปัตยกรรมกรีกโบราณอย่างเที่ยงตรงและประณีตทุกรายละเอียดเท่านั้น แต่ยังเป็นการสืบทอดสายความคิดและมโนทัศน์ว่าด้วยความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่วางอยู่บนความสมดุลและการจัดวางสมส่วนต่อมาอีกด้วย สไตล์ทางสถาปัตยกรรมในรุ่นต่อมาอย่างสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคและสถาปัตยกรรมกรีกฟื้นฟูนั้นดำเนินรอยตามและปรับประยุกต์ใช้สถาปัตยกรรมกรีกโบราณแทบจะทุกแง่มุม
ดังที่กล่าวไว้ว่าสถาปัตยกรรมกรีกโบราณที่โดดเด่นที่สุดคืออารามจึงควรกล่าวถึงศาสนาความเชื่อในกรีกยุคโบราณว่ามีผลอย่างไรต่อการก่อสร้าง ศาสนาในยุคกรีกโบราณนั้นจัดอยู่ในหมวดของความเชื่อที่เคารพบูชาธรรมชาติซึ่งเป็นศาสนาที่เติบโตออกมาจากวัฒนธรรมในยุคก่อนหน้าอีกต่อหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ คือ ศาสนาของกรีกโบราณนั้นไม่ถือว่ามนุษย์จะถูกคุกคามหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของธรรมชาติโดยสิ้นเชิง แต่มนุษย์ถูกถือว่าเป็นสิ่งที่พิเศษล้ำกว่าอื่นใด คือเป็นสิ่งที่มีทั้งระเบียบและความกระหายอยากทั้งต่อสติปัญญาและความงดงาม ดังจะเห็นได้จากการที่พลังธรรมชาติต่างๆ นั้นจะถูกทำให้กลายร่างเป็นมนุษย์ในความเชื่อของกรีก และปวงเทพเหล่านั้นก็ต่างมีพฤติกรรมเยี่ยงมนุษย์อย่างยิ่งอีกด้วย
การทำความเคารพบูชาปวงเทพของชาวกรีกโบราณนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นกลุ่ม โดยรูปปั้นเคารพของเทพองค์ต่างๆ นั้นก็มีขนาดใหญ่และเพื่อผลประโยชน์ในการรักษา การสร้างอารามให้รูปเคารพเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งเช่นเดียวกันกับการสร้างบ้านเรือน มุมมองที่ชาวกรีกโบราณมีต่อจักรวาลนั้นคือจักรวาลเป็นสิ่งที่มีระบบระเบียบและในทางกลับกันการกำเนิดของจักรวาลจึงถูกถือว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลและมีระเบียบ เช่นกันกับการจัดวางความกระหายอยากที่มนุษย์มีต่อความรู้และความงามให้แสดงออกผ่านสถาปัตยกรรมที่เป็นการแสวงหาความสมบูรณ์แบบหรือรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดของความงดงามด้วยระเบียบความรู้นั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *