Persian Gardens | สวนเปอร์เซีย

Posted in : ทั่วไป on by : Webmaster Comments: 0

Persian Gardens
ธรรมเนียมและสไตล์ในการตกแต่งและออกแบบสวนเปอร์เซียหรือที่เรียกกันอีกอย่างว่าสวนอิหร่านในประเทศอิหร่านนั้นส่งอิทธิพลต่อวิธีและแนวทางในการออกแบบตกแต่งสวนจากตั้งแต่อันดาลูเซียมาจนถึงอินเดียและประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง ในสวนแต่งหลายแห่งที่ตั้งอยู่ที่อัลฮามบราก็ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของปรัชญาและแนวคิดรวมไปถึงสไตล์ในธรรมเนียมการสร้างสวนเปอร์เซีย โดยการตีความที่ว่านี้ปรากฏออกมาในขนาดของพระราชวังแบบแขกมัวร์ที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัยของอัล-อันดาลัสในสเปน ส่วนสุสานของฮูมายันและทัชมาฮาลนั้นก็ถือว่าเป็นการตีความแนวคิดและธรรมเนียมในการสร้างสวนเปอร์เซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของโลก ซึ่งต่างก็ถูกสร้างไว้ตั้งแต่ยุคสมัยของอาณาจักรโมกุลในอินเดียจวบจนปัจจุบัน
ต้นกำเนิดและแนวคิดของการจัดสวนสไตล์เปอร์เซีย
นับตั้งแต่ยุคสมัยของราชวงศ์อคาเอเมนิด แนวคิดเรื่องสรวงสวรรค์บนโลกนั้นได้แพร่กระจายไปหลายดินแดนและปรากฏผ่านออกมาในงานวรรณคดีของเปอร์เซีย และยังรวมไปถึงตัวอย่างอื่นๆ ที่มีที่มาจากวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างในแบบหลังนั้นคือสวนแบบเฮเลนนิสติกที่เซลิวคิดส์และปโตเลมีส์ในอเล็กซานเดรีย คำว่า pairidaēza ในภาษาอเวสตะนั้นเป็นคำยืมมาจากภาษากรีกโบราณ παράδεισος (พาราเดซอส) ที่ได้กลายมาเป็นคำว่า paradisus ในภาษาลาตินและกลายเป็นคำหนึ่งในภาษาภาคพื้นทวีปยุโรปอย่างเช่น paradis ในภาษาฝรั่งเศส paradies ในภาษาเยอรมัน และ paradise ในภาษาอังกฤษ คำดังกล่าวนี้ได้เข้าไปอยู่ในตระกูลภาษาเซมิติกด้วยเช่นกัน นั่นคือคำว่า pardesu ในภาษาอัคคาเดียน คำว่า pardes ในภาษาฮีบรู และคำว่า firdaws ในภาษาอาหรับ
ดังความหมายที่คำๆ นี้สื่อถึง สวนที่ถูกสร้างขึ้นจึงมีลักษณะปิดล้อม โดยเป้าหมายของสวนนั้นคือการสร้างสถานที่ที่อำนวยและเอื้อให้ผู้คนสามารถพักผ่อนคลายได้อย่างวางใจในความปลอดภัยในอิริยาบถที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในทางจิตวิญญาณหรือการใช้เวลาว่าง กล่าวได้ว่าเป็นสรวงสวรรค์บนดินนั่นเอง คำที่หมายถึงสถานที่ที่ล้อมกั้นไว้ในภาษาอิหร่านทั่วไปนั้นคือคำว่า pari-daiza- ซึ่งถูกหยิบยืมไปโดยคริสตศาสนจักรเพื่อนำไปใช้อธิบายลักษณะของสวนแห่งอีเดนหรือสรวงสวรรค์บนโลกมนุษย์ การก่อสร้างสวนนั้นอาจเน้นไปที่รูปแบบทางการที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้าง หรือเน้นไปที่ความหย่อนใจโดยให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติ โดยสร้างขึ้นตามกฎการออกแบบพื้นฐานหลากหลายประการ
สวนเปอร์เซียนั้นอาจเกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ 4000 ปีก่อนคริสตกาล โดยได้มีการค้นพบว่าเครื่องถ้วยของยุคสมัยนั้นมีการเขียนลวดลายแบบแปลนของสวนเปอร์เซียอยู่ด้วย ในช่วงสมัยของจักรวรรดิแซสซานิดหรือตั้งแต่สามร้อยถึงเจ็ดร้อยปีก่อนคริสตกาลนั้น น้ำได้กลายเป็นองค์ประกอบในงานทางศิลปะที่สำคัญอย่างมากอันชี้ให้เห็นอิทธิพลจากศาสนาโซโรอัสเตอร์ กระแสแนวคิดที่ว่านี้ก็ปรากฏอยู่ในแนวทางการออกแบบสวนที่มีการเน้นไปที่ตัวน้ำพุและสระน้ำในสวนนั่นเอง
ในช่วงที่ชาวอาหรับครอบครองดินแดนนั้น แง่มุมสุนทรียะได้มีความสำคัญในการออกแบบก่อสร้างสวนมากกว่าเรื่องของประโยชน์ใช้สอย ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ กฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยความสวยงามและสุนทรียศาสตร์จึงมีความสำคัญต่อการสร้างสวนอย่างมาก โดยมีตัวอย่างเช่น chahar bagh ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของสวนที่มีแนวคิดในการสร้างคือความพยายามเลียนแบบสวนแห่งอีเดน โดยมีแม่น้ำสี่สายและสวนสี่ส่วนที่เปรียบเป็นโลกทั้งใบ
องค์ประกอบของสวนสไตล์เปอร์เซีย
องค์ประกอบของสวนเปอร์เซียที่สำคัญอันหนึ่งนั้นคือแสงแดดและผลตกกระทบของมันซึ่งมีผลต่อการออกแบบโครงสร้างสวนเปอร์เซียอย่างมาก ตัวพื้นผิวและรูปร่างต่างๆ นั้นก็จะถูกเลือกอย่างประณีตโดยนักสถาปนิกเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากแสงแดดนั้น กล่าวได้ว่าอุณหภูมิที่ร้อนแล้งของประเทศอิหร่านนั้นได้ทำให้เงาตกกระทบกลายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างและตกแต่งสวน ต้นไม้และโครงบังตาที่มีไม้ระแนงนั้นก็มีหน้าที่เป็นเงาทาบที่มีชีวิต ส่วนตัวศาลาและกำแพงนั้นก็ทำหน้าที่เป็นที่ร่มบังแสงแดดและลมร้อน ด้วยความร้อนนี้เองจึงทำให้การจัดวางองค์ประกอบที่มีน้ำเป็นส่วนผสมนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสวนเปอร์เซีย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะเหมือนน้ำพุหรือบ่อน้ำก็จะถูกติดตั้งให้เชื่อมต่อกับถ้ำใต้ดินและเครื่องสูบน้ำที่ใช้แรงวัวเป็นตัวขับเพื่อสูบน้ำขึ้นมาบนพื้นผิวนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *