Wainwright Building | อาคารสำนักงานรัฐเวนไรท์

Posted in : สถาปัตยกรรม on by : Webmaster Comments: 0
Banner

 

อาคาร ตกแต่ง บัวปูน รอบอาคาร

อาคารเวนไรท์หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าอาคารสำนักงานรัฐเวนไรท์ เป็นอาคารสำนักงานก่อสร้างด้วยอิฐแดงความสูงสิบชั้น โดยตั้งอยู่ที่หมายเลข 709 บนถนนเชสค์นัทในย่านดาวน์ทาวน์ของเมืองเซนต์หลุยส์, มิสซิสซิปปี อาคารเวนไรท์นั้นถือเป็นตึกสูงระฟ้ารุ่นแรกๆ ของโลก โดยผู้ออกแบบคือดังค์มาร์ แอดเลอร์และหลุยส์ ซัลลิแวนได้ออกแบบตัวอาคารโดยวางอยู่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบปาลาสโซซึ่งใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1890-1891 ชื่อของอาคารนั้นถูกตั้งตามชื่อของเอลลิส เวนไรท์ ผู้เป็นทั้งนักการเงิน ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ผลิตเครื่องดื่มขึ้นชื่อในท้องถิ่นที่เป็นผู้ว่าจ้างโครงการนี้

การออกแบบและโครงสร้าง

อาคารหลังนี้ถูกระบุให้อยู่ในฐานะหลักเขตหมุดหมายของทั้งในระดับท้องที่และในระดับชาติ นอกจากนั้นยังได้รับการให้อรรถาธิบายกล่าวขวัญถึงเพิ่มเติมโดยสำนักงานทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติว่าเป็น “ต้นแบบอันทรงอิทธิพลของอาคารสำนักงานสมัยใหม่” แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์เรียกอาคารเวนไรท์ว่าเป็น “การแสดงออกเยี่ยงมนุษย์ครั้งแรกสุดที่ปรากฏผ่านอาคารสำนักงานเหล็กสูงระฟ้าในฐานะสถาปัตยกรรม” ปัจจุบันอาคารเวนไรท์หลังนี้เป็นทรัพย์สมบัติของรัฐมิสซูรี และในปี 2013 อาคารเวนไรท์ยังถูกจัดอันดับโดยรายการทาง PBS ให้เป็นหนึ่งในสิบอาคารที่เปลี่ยนโฉมหน้าอเมริกาเนื่องจากมันเป็นอาคารสูงระฟ้าที่มีคุณสมบัติสมชื่อเรียก โดยพร้อมกันนั้นซัลลิแวนก็ได้รับการขนานนามให้เป็นบิดาแห่งตึกสูงระฟ้า
อาคาร Wainwright Building

ต้นกำเนิดรูปแบบอาคาร

ในทางประวัติศาสตร์ อาคารเวนไรท์นั้นเริ่มต้นจากการว่าจ้างของเอลลิส เวนไรท์ผู้ผลิตเครื่องดื่มจากเซนต์หลุยส์ โดยเวนไรท์นั้นต้องการพื้นที่ทางสำนักงานสำหรับการบริหารจัดการสมาคมผู้ผลิตเครื่องดื่มแห่งเซนต์หลุยส์ โดยอาคารหลังนี้เป็นโครงการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ที่สองที่บริษัทของแอดเลอร์และซัลลิแวนได้รับ โดยในเบื้องต้นนั้น ชั้นแรกของตัวอาคารเวนไรท์จะถูกใช้สำหรับเป็นร้านค้าที่เปิดให้ผู้คนเดินเท้าบนถนนสามารถเข้าแวะชมได้ ส่วนชั้นที่สองเป็นอาคารสำนักงานที่เข้าถึงได้ไม่ยากเย็นนัก ส่วนชั้นของอาคารที่สูงขึ้นไปนั้นถือเป็นสำนักงานแบบ “รังผึ้ง” ในขณะที่ชั้นบนสุดนั้นเป็นที่ตั้งของถังน้ำและกลไกเครื่องจักรต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในตัวอาคาร

สุนทรียศาสตร์ของอาคารเวนไรท์

ในทางสุนทรียศาสตร์แล้ว อาคารเวนไรท์นั้นเป็นตัวอย่างที่จับต้องได้ของทฤษฏีว่าด้วยตึกสูงของซัลลิแวนที่จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามส่วน (ฐาน-ทางเดิน-ห้องใต้หลังคา)   ที่สร้างบนการวางเสาแบบดั้งเดิมผนวกรวมกับความปรารถนาของเขาในเรื่องความสูงของตัวอาคาร   โดยเขาได้เขียนไว้ว่า  “ตึกระฟ้านั้นจะต้องสูง,   สูงในทุกนิ้วของความสูงของมันเท่าที่เป็นได้      พลังและอำนาจของทัศนคติต้องอยู่ในตัวมันรวมทั้งเกียรติยศและความภาคภูมิก็จะต้องอยู่ในนั้นเช่นกัน มันจะต้องเป็นสิ่งที่ปิติภาคภูมิทะเยอทะยานในทุกนิ้วของความสูงที่มันมี ผงาดจากรากฐานสู่จุดยอดเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีเส้นคดแม้แต่นิดเดียว” แต่ในขณะเดียวกัน แอดเลอร์ก็ให้อรรถาธิบายถึงอาคารเวนไรท์ในแบบที่ตรงกันข้ามกับซิลลิแวนโดยสิ้นเชิง เขากล่าวถึงตัวอาคารว่าเป็น       “ตึกสูงสำหรับธุรกิจโดยทั่วไป”         และกล่าวต่อไปว่า “ในยุคสมัยแห่งลัทธิอรรถประโยชน์นิยมดังยุคของเรานั้น เป็นการอุ่นใจที่จะถือว่าเจ้าของสินทรัพย์ที่ดินอสังหาและผู้ร่วมลงทุนในการก่อสร้างอาคารต่างตั้งใจร่วมกันก่อสร้างตึกประเภทที่สามารถเอื้อให้ผลตอบแทนคืนกลับมาได้มากที่สุดจากเงินลงทุนที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไปในภายภาคหน้า...

เป้าประสงค์ของการสร้างอาคารต่างๆ นั้นนอกจากจะเพื่อใช้เป็นที่กำบังเจ้าของให้พ้นจากแดดฝนลมหนาวแล้วก็คือเป็นการสร้างเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนเพื่อคืนกำไรกลับมา”

นอกจากนั้น หนึ่งในความใส่ใจหลักที่ซัลลิแวนมีต่อการก่อสร้างอาคารเวนไรท์คือเรื่องของการพัฒนาสัญลักษณ์ในทางสถาปัตยกรรมต่างๆ อันได้แก่รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน แบบในเชิงโครงสร้างและการประดับตกแต่งที่ดูสดใหม่สมจริงราวกับมีชีวิต อาคารเวนไรท์จึงถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ซัลลิแวนได้สาธิตการผสมผสานสัญลักษณ์ของทั้งเรื่องของงานช่างก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับการกระทำการในเชิงวัตถุวิสัยเข้ากับการเน้นลักษณะมีชีวิตที่เป็นการกระทำในเชิงอัตวิสัยเข้าไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรกอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *